เส้นทางธุดงควัตร ครูบาน้อย วัดถ้ำเชตวัน เกจิดังเมืองน่าน

เส้นทางธุดงควัตร ครูบาน้อย วัดถ้ำเชตวัน เกจิดังเมืองน่าน

 


ครูบาน้อยเปิดเผยเรื่องราวตั้งแต่วัยเยาว์ใน เว็บไซต์ ครูบาน้อย พระญาณวิไชย ภิกขุ ว่าเมื่ออายุ 8 ขวบก็เริ่มสวดมนต์ พยายามท่องคาถาชินบัญชร เป็นเด็กที่ไม่ชอบยิงนกตกปลา ชอบนั่งสมาธิในห้องพระคนเดียวเงียบๆ 

เมื่ออายุ 12 ปี หลังจากเรียนจบ ป.6 ก็ขออนุญาตพ่อแม่บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดนาแดง แต่ตั้งมั่นว่าจะก้าวเข้าสู่ร่วมผ้ากาสาวพัตร เดินบนเส้นทางของบรรพชิตตลอดไป

ท่องเสขิยวัตร 75 เพื่อเป็นลูกศิษย์วัดเบญจมบพิตร

ขณะที่เรียนพระปริยัติธรรม ครูบาน้อยในขณะนั้นได้ยินกิตติศัพท์ของ "พระครูบาเจ้าบุญช่ม ญาณสังวโร" แห่งวัด พระธาตุดอนเรือง เมืองพง ประเทศพม่า จึงคิดจะไปถวายตนเป็นศิษย์ศึกษาธรรม แต่สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศพม่า กำลังเดือดร้อน แต่ความตั้งใจกลับต้องยุติลง ด้วยคำขอร้องจากบุพการีที่อยากให้ข้าพเจ้าเรียนปริยัติธรรมต่อ จึงต้องเดินทางจาก จ.น่าน เข้า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวราราม พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 5 กทม. 

หากพระเณรรูปใดจะเข้าอยู่ภายในสังกัด ได้ศึกษาเล่าเรียนที่วัดนี้ ต้องท่องเสขิยวัตร 75 และสามเณรสิกขา ต่อหน้าพระผู้ใหญ่ให้ได้ และครูบาน้อยก็เป็นเพียง 1 ใน 2 สามเณรที่ผ่านการทดสอบตั้งแต่ครั้งแรก ได้เป็นนักเรียนที่อายุน้อยที่สุดของห้องเรียน เรียนปริยัติธรรมในชั้นประโยค ป.ธ.5

ยอมสอบตก เพื่อศึกษากรรมฐานธุดงค์

ระหว่างที่เรียน ป.ธ.5 ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวราราม ครูบาน้อยพบว่าตนเองยังมีความตั้งใจจะออกปฏิบัติธรรม และไม่ชอบความวุ่นวายในเมืองหลวง จึงพยายามค้นคว้าวิธีปฏิบัติ จนได้ยินชื่อของ พระครูบาอินทร แห่งวัดสันป่ายางหลวง จ.ลำพูน จึงคิดอยากไปศึกษาปฏิบัติธรรมอยู่กับท่าน

จึงนั่งพิจารณา ระหว่างสอบผ่านกับสอบตก ถ้าสอบผ่าน ชั้น ป.ธ. 5 จะต้องถูกบังคับให้เรียนต่อ ป.ธ. 6 แต่ถ้าสอบตกก็จะเป็นข้ออ้างในการยุติการเรียนและออกปฏิบัติธรรม ภายหลังสอบเสร็จ จึงเข้ากราบลาพระอาจารย์ และอำลาวัดเบญจมบพิตรฯ แล้วมุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดลำพูน เพื่อออกศึกษากรรมฐานธุดงค์ ตามที่ได้ตั้งใจไว้ 

และเดินทางไปยังวัดสันป่ายางหลวง พร้อมถวายตัวเป็นศิษย์ศึกษากรรมฐานต่อครูบาเจ้าอินทร ปัญญาวัฑโน นับเป็นปฐมอาจารย์องค์แรกที่ประสาทพระกรรมฐานให้แก่ครูบาน้อย ต่อมาครูบาน้อยได้เดินทางไปวัดห้วยบง อ.ลี้ จ.ลำพูน เพื่อขอปฏิบัติกรรมฐานอีก จนได้ทราบข่าวดีว่า ครูบาเจ้าบุญชุ่ม ได้เข้ามาจำพรรษาที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จึงได้กราบลาพระครู และมุ่งหน้าเดินทางไป จ.เชียงราย ทันที กระทั่งได้พบครูบาบุญชุ่มตามตั้งใจจริง แต่ยังไม่ได้ถวายตัวเป็นศิษย์ในขณะนั้นทันที

 

ถวายตนเป็นศิษย์ครูบาบุญชุ่ม นักบุญล้านนา

หลังจากแยกทางกับครูบาบุญชุ่ม หลังจากนั้นครูบาน้อยก็ใช้ชีวิตกับการธุดงค์ เรียนรู้ รับประสบการณ์กับโลกอันกว้างใหญ่ไพศาล โดยครูบาน้อยเล่าว่า ธรรมะเป็นสิ่งที่เลิศที่สุด ใจที่บริสุทธิ์ คือ สิ่งที่ประเสริฐที่สุด ความรู้บางอย่างอาจไม่มีสอนในโรงเรียนหรือมหาลัยใดๆ ในโลก หรือจารึกเป็นตัวอักษรอยู่ในตำราเล่มใด

แต่หากเราท่านผู้ที่ต้องการศึกษา พึงเรียนรู้ด้วยตนเอง จากชีวิตจริงของตนและประสบการณ์ที่เป็นเสมือนตำราที่ไร้อักษรเล่มใหญ่ของตนเอง

จนกระทั่งได้ปลีกวิเวกที่ดอยแม่ปั๋งนางแล ครูบาสม ลูกศิษย์ครูบาเจ้าบุญชุ่ม ได้มารับตัวไปที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และได้พบกับครูบาบุญชุ่มอีกครั้ง จนได้ถวายตัวเป็นศิษย์ เรียนรู้ความหมายของคำว่า ผู้ให้ จากครูบาบุญชุ่ม แต่โอกาสที่ได้เรียนรู้ก็อยู่ไม่นาน เมื่อได้รับการติดต่อให้นิมนต์ให้กลับ จ.น่าน เพื่อสร้างพระธาตุบนดอยม่อนวัดให้สำเร็จ 

สร้างพระธาตุเสร็จเพียงอายุ 17 ปี

ครูบาน้อยในวัย 17 ปี ได้จัดหาทุนทรัพย์จากการบริจาคของผู้มีจิตศัทธาได้เงินก้อนแรก 160,000 บาท สร้างพระธาตุศรีสังฆรัตนคีรี บนดอยม่อนวัด จ.น่าน จนสำเร็จในเวลา 7 เดือน ถือเป็นที่แรกที่พิสูจน์กำลังใจและความสามารถบนเส้นทางแห่งการสร้างบารมี ที่สามเณรอายุ 17 ปี รับภาระการเป็นผู้นำทุกอย่าง ลบคำสบประมาทของคนอื่น หลังสร้างพระธาตุเสร็จ สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสุงฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ก็ทรงประทานพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุในองค์เจดีย์และได้ทำการยกฉัตรฉลองสมโภชขึ้น ในวันที่ 9 ธ.ค.2550

ถูกบีบออกจากวัด เดินหน้าปฏิบัติธรรมต่อ

เมื่อปฏิบัติภารกิจแรกสำเร็จ ครูบาน้อยก็ถูกบีบให้ออกไปจากวัด โดยท่านเดินทางออกจากวัดตั้งแต่เช้ามืด มิได้ร่ำลาหรือบอกให้ใครทราบเลยแม้แต่พ่อแม่และญาติๆ ตั้งใจมุ่งเดินทางตามลำพัง โดยหวังจะกลับไปศึกษาธรรมต่อกับครูบาบุญชุ่ม แต่ระหว่างทางได้ยินกิตติศัพท์การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของ ครูบามหาป่านิกร ชยยฺยเสโน 

จึงตัดสินใจ มุ่งหน้าสู่วัดพระธาตุแก่งสร้อย อ.สามเงา จ.ตาก เพื่อขอถวายตัวเป็นศิษย์ ครูบามหาป่านิกร ชยยฺยเสโน หลังจากปฏิบัติธรรมกับครูบานานพอสมควร ก็กราบลาครูบาเพื่อไปหาครูบาบุญชุ่มตามตั้งใจอีกครั้ง 

แต่ก็ไม่ได้กลับไปหาครูบาบุญชุ่มตามตั้งใจ เพราะญาติโยมจาก จ.น่าน มาตามกลับให้จำวัดพระธาตุศรีสังฆรัตนคีรีฯ และเลือกปฏิบัติธรรม ณ ถ้าเชตวัน ยามใดที่ว่างจากภารกิจการงาน ครูบาน้อยจะปลีกตัวออกปฏิบัติธุดงค์กรรมฐานในที่ต่างๆ และพักอยู่ปฏิบัติธรรมอยู่ตามโอกาส เช่น อ.ลี้ จ.ลำพูน อ.แม่แตง อ.แม่ริม ยอดดอยภูโอบ จ.เชียงใหม่ แล้วก็กลับมาพระธาตุศรีสังฆฯ ตามโอกาสและเวลาจะเอื้ออำนวย

อุปสมบทเป็นพระภิกษุ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 ธ.ค.2552 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดสันทะ ต.สันทะ อ.นาน้อย จ.น่าน ได้รับนามฉายาว่า ญาณวิชชโย ภิกขุ

ครูบาน้อยเริ่มปฏิบัติธรรมโดยปลีกวิเวกตัดขาดจากโลกภายนอก ณ วัดถ้ำเชตะวัน ต.สันทะ อ.นาน้อย ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.2557 - 15 ต.ค.2560 รวมเวลากว่า 3 ปี โดยครูบาน้อย ฉันอาหารเพียง 1 มื้อ ซึ่งเป็นอาหารมังสวิรัติ 

เปิดพินัยกรรมครูบาน้อย ฌาปนกิจให้เสร็จใน 1 วัน

เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2566 เวลา 00.49 น. ที่ผ่านมา ครูบาน้อยได้ละสังขารด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว โดยมีกำหนดประกอบพิธีถวายเพลิงศพในวันที่ 31 ส.ค. เวลา 20:09 น. สิริอายุ 34 ปี ตามเจตนารมณ์ที่ปรากฏในพินัยกรรมการถวายเพลิงสรีระสังขาร "ครูบาน้อย" เป็นไปตามพินัยกรรมที่ครูบาน้อยได้เขียนไว้ล่วงหน้าเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2566 

โดยเพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน ได้เปิดพินัยกรรม คำสั่งเสีย ของครูบาน้อยว่า ห้ามอาบน้ำศพ ห้ามเปลี่ยนผ้า ห้ามชันสูตร ห้ามเรี่ยไรบริจาค ห้ามเอารูปไปหากินกับญาติโยม ห้ามประดับดอกไม้ ผ้าโยง และให้ดำเนินการถวายเพลิงสรีระสังขารในวันเดียวกัน ซึ่งจะมีขึ้นในเวลา 20.09 น. ณ วัดถ้ำเชตวัน อ.นาน้อย จ.น่าน

 

 

ความคิดเห็น